เวียดนาม (Vietnam)
รู้จักเวียดนาม : ประเทศเวียดนาม
มีรูปร่างคล้ายตัว S ทอดตัวยาวเหยียดไปตามแหลมอินโดจีน ด้านตะวันออกติดทะเลจีนใต้
ด้านเหนือติดจีน ด้านตะวันตกติดลาว และกัมพูชา สามในสี่ของพื้นที่เป็นภูเขาและป่า
ครอบคลุมทะเล ไหล่ทวีป และหมู่เกาะนับพันเกาะจากอ่าวตังเกี๋ยจรดอ่าวไทย
รวมทั้งหมู่เกาะสแปรตลีและพาราเซลที่จีนและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศแย่งกันอ้างกรรมสิทธิ์
สาเหตุเป็นเพราะมีแหล่งน้ำมันใต้ดินที่อุดมสมบูรณ์
หากวัดเป็นเส้นตรงจากหมงไก๋ เมืองเหนือสุด ถึง ฮาเตียนทางใต้สุดของเวียดนาม
จะได้ระยะทาง 1,650 กม. ส่วนที่กว้างที่สุดทางภาคเหนือวัดได้
600 กม. ส่วนที่แคบที่สุดในตอนกลางวัดได้เพียง 50 กม. มีแนวชายฝั่งยาว
2,500 กม.
เวียดนามอยู่บนเส้นรุ้งเดียวกันกับเมืองบอมเบย์ ฮาวาย และเม็กซิโกซิตี้
มีธรรมชิที่สวยงามและแตกต่างหลากหลาย นักภูมิศาสตร์เปรียบประเทศนี้ซึ่งมี
3 ภูมิภาคคือ เหนือ กลาง และใต้ ว่าเหมือนรูปตราชู ที่สมดุลด้วยภาคเหนือและใต้อันเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่อุดมสมบูรณ์จากดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง
(ซงโห่ง) และแม่น้ำโขงตามลำดับ
เวียดนามมียอดเขาที่สูงที่สุดคือ ฟานสีปัน สูง 3,160 เมตร
อยู่ที่เทือกเขาฮว่างเลียนเซิน ในมณฑลลาวไก ใกล้กับชายแดนจีน
มีแม่น้ำโขงที่มีชื่อเรียกว่า กู่ลองยาง หรือแม่น้ำเก้ามังกร
เป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดสายหนึ่งในเอเชีย ตะกอนจากแม่น้ำโขงได้ทับถมกันจนก่อตัวเป็นที่ราบเกิดเป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ
ปัจจุบันเป็นพื้นที่ถึง 75,000 ตร.กม. ดินตะกอนเหล่านี้มิได้ทับถมบนสันดอนสามเหลี่ยมตามธรรมชาติ
แต่ทับถมค่อนไปทางปากแม่น้ำโขงและรอบๆ คาบสมุทรก่าเมา ตอนใต้สุดของเวียดนาม
ทำให้เวียดนามมีพื้นที่เพิ่มออกไปปีละหลายสิบตารางเมตร
อากาศเวียดนาม
เวียดนามอยู่ในเขตมรสุมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้มีภูมิอากาศหลากหลายและร้อนชื้นแตกต่างกันไปในแต่ละถิ่น
ตามปกติเวียดนามมี 2 ฤดูหลัก ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน
ภาคเหนือของเวียดนามเป็นฤดูหนาว อากาศค่อนข้างหนาวและชื้น
ซึ่งเกิดจากกระแสลมเหนือที่พัดจากไซบีเรียและจีนเข้าสู่เวียดนาม
ภูมิอากาศภาคเหนือได้รับอิทธิพลจากเอเชียกลาง ซึ่งทำให้ภูมิอากาศคล้ายกับในจีน
ในภาคกลาง ที่เมืองเว้ ซึ่งอยู่ตอนกลางของประเทศ ฤดูหนาวอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม
มักมีฝนพรำติดต่อกันเป็นสัปดาห์
ภาคใต้ของเวียดนามมีอุณหภูมิค่อนข้างคงที่ สภาพอากาศเปลี่ยนฉับพลัน
ฤดูฝนอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ช่วงเดือนพฤศจิกายนเดือนกุมภาพันธ์ค่อนข้างแห้งแล้ง
และจากเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเมษายนเป็นฤดูแล้ง
ชาวเวียดนาม : แม้ว่าร้อยละ
90 ของคนเวียดนามจะระบุชาติพันธุ์ของตนว่า กิงห์ ซึ่งเป็นคำเรียกเชื้อชาติพื้นเมือง
แต่ที่จริง ชาวเวียดนามส่วนใหญ่มีวิวัฒนาการมาจากการผสมของเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ต่างๆ
ตลอดหลายพันปีที่ผ่านมา การผสมนี้เป็นผลมาจากการบุกรุกจากภายนอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจีน
และการอพยพเรื่อยมาของคนในประเทศส่วนมากจากเหนือลงใต้ ดังนั้น
ประเทศเวียดนาม ปัจจุบันแม้จะมีชาวกิงห์เป็นคนกลุ่มใหญ่ แต่ก็มีชนกลุ่มน้อยต่างเชื้อชาติอีกนับสิบกลุ่ม
รวมถึงชาวจามและเขมรในภาคใต้ซึ่งถูกเวียดนามรุกรานจากตอนเหนือจนอาณาจักรทั้งสองล่มสลายนานมาแล้ว
การอพยพครั้งสำคัญสองครั้งจากมณฑลแถบชายฝั่งและทางใต้ของอาณาจักรจีน
ได้เพิ่มจำนวนประชากรเวียดนามให้มากขึ้น ครั้งแรกในศตวรรษที่
5 ก่อนคริสตกาล เมื่ออาณาจักรเวียดในหุบเขาแยงซีตอนล่างล่มสลาย
และคร้งที่สอง ระหว่างศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล เมื่อชาว เอา
หรือ เอาเตย จากมณฑลกวางสีบุกรุกทางภาคเหนือของเวียดนาม
ผู้อพยพเหล่านี้เข้ามาตั้งหลักแหล่งอย่างต่อเนื่องตามบริเวณชายฝั่ง
แล้วค่อยย้ายลึกเข้าไปตามลำน้ำ จนในที่สุดไปถึงพื้นที่สูงที่มีชนพื้นเมืองชาวหลากบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ
และที่มีชาวเมือง ที่ฮวาบิงห์ และแถ่งห์ฮวา ซึ่งอยู่ทางใต้กรุงฮานอยในปัจจุบันอาศัยอยู่ก่อนแล้ว
การขยายตัวของประชากรเวียดนามจากเหนือลงใต้ได้นำลักษณะของชาวมลายู-อินโดนีเซียที่สำคัญบางประการมาสู่กลุ่มชนที่มีผิวขาวจากลุ่มน้ำแยงซีที่เข้ามาผสมกลมกลืนกับชนชาติที่ครอบครองแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำกลุ่มแรกประมาณศตวรรษที่
3 ก่อนคริสตกาล และตั้งอาณาจักรเอาหลากขึ้น การผสมผสานของชนชาติเหล่านี้นานหลายศตวรรษนี่เอง
ที่ก่อกำเนิดเกิดเป็นชนชาติเวียดนามในปัจจุบัน
ศาสนา : ชาวเวียดนามนับถือศาสนาพุทธมาแต่ดั้งเดิม
จึงมีพื้นฐานด้านจิตใจที่อุดมและลุ่มลึกทั้งยังยอมรับนับถือลิทธิขงจื้อ
ลัทธิเต๋า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติ และศานาคริสต์นิกายคาทอลิก
อย่างไรก็ดี เวียดนาม ไม่มีศาสนาประจำชาติ รัฐธรรมนูญเวียดนามบัญญัติให้ประชาชนมีเสรี
ในการเลือกนับถือศาสนา เมื่อจีนปกครองเวียดนามได้นำลัทธิขงจื้อเข้ามาเผยแพร่
กับทั้งลัทธิการบูชาวิญญาณบรรพบุรุษตามธรรมเนียมจีน ทำให้ชาวเวียดนามรับเอาประเพณีการเซ่นไหว้ดวงวิญญาณเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเวียดนาม
นอกจากนั้น ชาวเวียดนามยังนับถือลัทธิเต๋าและศาสนาพุทธนิกายมหายาน
แต่ก็ยังมีชาวเวียดนามอีกจำนวนมากที่เคารพบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อถือแต่ครั้งโบราณกาล
วัดและเจดีย์เวียดนาม : วัดและเจดีย์เวียดนามสะท้อนความหลากหลายเชิงวัฒนธรรมและศาสนา
เป็นศูนย์รวมของชีวิตทั้งในด้านสังคม การเมือง และศาสนา หมู่บ้านเวียดนามแต่ละแห่งจะมีบริเวณที่เป็นที่ตั้งของวัดประจำหมู่บ้าน
รวมทั้งดิงห์ (ศาลาประชาคม) ซึ่งเป็นที่สักการุผู้ก่อตั้งหมู่บ้านและเป็นสภาหมู่บ้านที่ผู้นำหมู่บ้านมาถักกันเรื่องกิจการภายในท้องถิ่นของตน
จั่ว หรือ เจดีย์ เป็นที่สมาคมสำคัญสำหรับสตรี แต่ เดน กับ
เหมียว คือศาลเจ้าสำหรับเซ่นไหว้บรรพชนของแต่ละตระกูล กิจกรรมทางศาสนาในเวียดนามเป็นแบบผสมผสานกันหลายลัทธิ
เห็นได้จากลักษณะการสร้างวัดอาราใหญ่ๆ จะมี เฟืองดิงห์ (วิหารหน้า)
งวยกึง (วิหารกลาง) โนยกึง หรือวิหารแท่นบูชาหลัก และ เกยเตียน
เฮวือง ซึ่งเป็นประตูทางเข้าสู่อารามหลัก ส่วนเทพเจ้าที่บูชากันในวัดก็ขึ้นอยู่กับแต่ละหมู่บ้าน
บางวัดก็กราบไหว้บูชาทั้งขงจื้อ เต๋า และพระพุทธรูป
ศิลปวัฒนธรรม : แม้ว่าชาวเวียดนามจะถูกปกครองโดยคนต่างชาติเข้ามาเป็นเวลานับร้อยปี
แต่พวกเขาพยายามรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้เป็นอย่างดี
ชาติที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อชาวเวียดนามคือจีน ที่ได้ทิ้งมรดกด้านวัฒนธรรมสำคัญไว้กับชาวเวียดนาม
คือ ลัทธิขงจื้อ ที่เน้นการนับถือบรรพบุรุษและความรับผิดชอบในหน้าที่กับศานาพุทธที่สอนเกี่ยวกับการทำดีได้ดี
ทำชั่วได้ชั่ว และการเกิดใหม่
ในด้านศิลปะ ชาวเวียดนามมีชื่อเสียงทั้งในด้านประติมากรรมและจิตรกรรม
งานประติมากรรมที่โดดเด่นคือการแกะสลักพระพุทธรูปและสัตว์ในเทพนิยาย
ด้วยไม้ หิน ไข่มุก งาช้าง และอัญมณีมีค่า ด้านจิตรกรรม เวียดนามขึ้นชื่อในเรื่องภาพสีน้ำและสีน้ำมัน
ในสมัยโบราณนิยมวาดภาพเกี่ยวกับศาสนาและเทพนิยาย สมัยต่อมา
นิยมวาดภาพธรรมชาติตามแรงบันดาลใจจากลัทธิเต๋าและการประดิษฐ์ตัวอักษรแบบจีน
ปัจจุบัน มีโรงเรียนสอนศิลปะที่ฮานอยและโฮจิมินห์ ซิตี้
สอนการเขียนภาพบนผ้าแพรเป็นภาพเกี่ยวกับประเพณีโบราณ กับสอนศิลปะชั้นสูงที่ประยุกต์มาจากศิลปะสมัยใหม่ของฝรั่งเศส
งานหัตถกรรมของเวียดนามมีชื่อเสียงมากคือ งานพิมพ์ไม้ เครื่องเขินและเครื่องมุก
เครื่องเงิน ทองเหลือง และทองแดง กับงานจักสานจากหวายและไม้ไผ่
ในด้านสถาปัตยกรรม เวียดนามมีชื่อเสียงในด้านการออกแบบอาคารที่สร้างด้วยไม้
แกะสลักด้วยศิลปะแบบตะวันออก เป็นลวดลายที่ละเอียดประณีตสวยงาม
นิยมตกแต่งเสาประตู มุมหลังคาและชายคาด้วยลวดลายมังกร สถาปัตยกรรมเวียดนามเน้นความกลมกลืนกับธรรมชาติ
ไม่นิยมสร้างสิ่งก่อสร้างสูงๆ และให้ความสำคัญกับหลักฮวงจุ้ยของจีนโบราณ
เช่น การสร้างเมืองหลวงเว้ในสมัยราชวงศ์เหวียน พระเจ้ายาลองผู้ก่อตั้งราชวงศ์ได้รับแรงบันดาลใจมากจากพระราชวังโบราณที่ปักกิ่ง
สุสานของพระเจ้ายาลองได้รับการยกย่องว่าเป็นสุสานที่สง่างามที่สุดและมีภูมิสถาปัตย์ที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว
สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็ง มั่นคง อำนาจ และความมีวินัย
ศิลปะการแสดง : ดนตรีราชสำนักเริ่มขึ้นในราชวงศ์เล
(ค.ศ.1428-1788) เมื่อขุนนางเวียดนามคนหนึ่งได้รับพระบัญชาให้จัดตั้งวงดนตรีขึ้นในราชสำนักตามแบบอย่างของราชวงศ์หมิงในจีน
จึงได้จัดดนตรีออกเป็นประเภทเพื่อบรรเลงตามโอกาสทางศาสนาและสังคมต่างๆ
ดังนี้คือ ยาวยาค เล่นเพื่อบวงสรวงในริ้วขบวนสวรรค์ในการฉลองทุกรอบ
3 ปี มงคลพิธีแห่งสวรรค์ขององค์จักรพรรดิ เมียวยาค บรรเลงระหว่างพิธีกรรมที่สภาวรรณกรรมเพื่อสดุดีขงจื้อและในพิธีครบรอบวันสวรรคตของจักรพรรดิองค์ก่อนๆ
หงูตื่อยาค หรือดนตรีแห่งการบวงสรวงทั้งห้าคือ กู ยัด ยาว
ตรุง ยาค ประโคมเพื่อช่วยพระอาทิตย์และพระจันทร์ระหว่างเกิดอุปราคา
ไดเตรียวยาค ดนตรีสำหรับผู้ฝังทั่วๆ ไป ไดเยนกูเตายาค บรรเลงในงานเลี้ยงใหญ่
และ กุงตรุงจียาค ดนตรีในราชสำนัก
วรรณคดี : ทุกเมืองสำคัญของเวียดนามจะมีวิหารวรรณดคดี
ที่สร้างถวายบูชาขงจื้อ คือราชสำนักของจักรพรรดิ ผู้ทรงอุปการะวัดวรรณคดีและทรงสั่งให้จารึกชื่อของนักปราชญ์กับนักวรรณคดี
ผู้มีชื่อเสียงของประเทศไว้บนแผ่นหินในวัด โดยวรรณกรรมยุคแรกๆ
ของเวียดนามที่แต่งไว้ในสมัยที่ยังอยู่ในความปกครองของจีนเขียนเป็นภาษาจีน
ต่อมาจึงได้มีการแปลเป็นภาษาเวียดนามและใช้สอนตามโรงเรียนทั่วประเทศ
เมื่อมีการนำอักษรโรมันมาเขียนภาษาเวียดนาม ทำให้วรรณคดีเวียดนามรุ่งเรืองมากขึ้น
และแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว อิทธิพลของแนวคิดและปรัชญาใหม่ๆ
จากตะวันตกทำให้งานวรรณคดีของเวียดนามมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้น
ไม่ยึดติดรูปแบบจากจีนอีกต่อไป |